วันศุกร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2561

มก 7:1-8,14-15,21-23 ขนบธรรมเนียมของชาวฟาริสี

Image result for mark 7:1-8,14-15,21-23ข่าวดี  มาระโก 7:1-8,14-15,21-23
1)ชาวฟาริสีและธรรมาจารย์บางคนจากกรุงเยรูซาเล็มมาเฝ้าพระองค์พร้อมกัน  (2)เขาสังเกตว่าศิษย์บางคนของพระองค์กินอาหารด้วยมือที่ไม่สะอาด คือไม่ได้ล้างมือก่อน  (3)เพราะชาวฟาริสีและชาวยิวโดยทั่วไปย่อมถือขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ เขาไม่กินอาหารโดยมิได้ล้างมือตามพิธีก่อน  (4)เมื่อกลับจากตลาด เขาจะไม่กินอาหารเว้นแต่จะได้ทำพิธีชำระตัวก่อนเขายังถือขนบธรรมเนียมอื่น ๆ อีกมาก เช่น  การล้างถ้วย จานชามและภาชนะทองเหลือง  (5)ชาวฟาริสีและธรรมาจารย์จึงทูลถามพระองค์ว่า “ทำไมศิษย์ของท่านไม่ปฏิบัติตามขนมธรรมเนียมของบรรพบุรุษ และทำไมเขาจึงกินอาหารด้วยมือที่ไม่สะอาดเล่า”  (6)พระองค์ตรัสตอบว่า “ประกาศกอิสยาห์ได้พูดอย่างถูกต้องถึงท่าน คนหน้าซื่อใจคด ดังที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ว่า
    ประชาชนเหล่านี้ให้เกียรติเราแต่ปาก
    แต่ใจของเขาอยู่ห่างไกลจากเรา
    (7)เขานมัสการเราอย่างไร้ความหมาย
    เขาสั่งสอนบัญญัติของมนุษย์เหมือนกับเป็นสัจธรรม
    (8)“ท่านทั้งหลายละเลยบทบัญญัติของพระเจ้ากลับไปถือขนบธรรมเนียมของมนุษย์” (14)พระองค์ทรงเรียกประชาชนเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง ตรัสว่า “ทุกคนจงฟังและเข้าใจเถิด  (15)ไม่มีสิ่งใดเลยจากภายนอกของมนุษย์ทำให้เขามีมลทินได้ แต่สิ่งที่ออกมาจากภายในของมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน (21)จากภายในคือจากใจมนุษย์นั้นเป็นที่มาของความคิดชั่วร้าย การประพฤติผิดทางเพศ การลักขโมย การฆ่าคน  (22)การมีชู้  ความโลภ การทำร้าย การฉ้อโกง การสำส่อน ความอิจฉา การใส่ร้าย ความหยิ่งยโส  ความโง่เขลา  (23)สิ่งชั่วร้ายทั้งหมดนี้ออกมาจากภายใน และทำให้มนุษย์มีมลทิน”


คำอธิบาย
    พระวรสารวันนี้แสดงให้เห็นเงื่อนปมของ “ความขัดแย้ง” ระหว่างพระเยซูเจ้ากับบรรดาฟาริสีและธรรมาจารย์ ซึ่งล้วนเป็นผู้นำที่เคร่งครัดศาสนาได้อย่างชัดเจน
    พวกเขาตั้งคำถามพระองค์ว่า “ทำไมศิษย์ของท่านไม่ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ” (ข้อ 5)
    ในเมื่อประเด็นของพวกเขาคือ “การไม่ปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ”  เราจึงควรศึกษาว่า “ขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ” คืออะไร และอะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้พวกเขาปฏิบัติตาม “ขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ” อย่างเคร่งครัด
    แรกเริ่มเดิมทีเมื่อพูดถึง “กฎหมาย” ชาวยิวหมายถึง 2 สิ่งคือ บัญญัติสิบประการ และหนังสือห้าเล่มแรกของพระธรรมเก่าที่เรียกกันว่า “ปัญจบรรพ” 
จริงอยู่ที่ในหนังสือปัญจบรรพมีกำหนดกฎเกณฑ์และคำแนะนำที่ลงในรายละเอียดแบบหยุมหยิมอยู่จำนวนหนึ่ง  แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรมจะเป็นเพียง “หลักการ” กว้าง ๆ ที่แต่ละคนต้องตีความและประยุกต์ใช้กับชีวิตของตนเอง
เป็นเวลานานที่ชาวยิวพอใจดำเนินชีวิตตามหลักการศีลธรรมแบบกว้าง ๆ นี้  จวบจนประมาณสี่ห้าศตวรรษก่อนพระเยซูเจ้า ได้มีผู้เชี่ยวชาญกฎหมายกลุ่มหนึ่งซึ่งเรียกตัวเองว่า “ธรรมาจารย์” เห็นว่าหลักการเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการนิยามความหมายให้ชัดเจนและต้องขยายความให้ครอบคลุมทุกแง่ทุกมุมของชีวิต
ผลลัพธ์ที่ได้คือระเบียบข้อบังคับนับพันนับหมื่นข้อที่สืบทอดต่อ ๆ กันมาด้วยปากเปล่า (Oral Law) กลายเป็นสิ่งที่พระวรสารวันนี้เรียกว่า “ขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ” ซึ่งต่อมาราวศตวรรษที่สามจึงได้รับการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรในหนังสือที่เรียกว่า Mishnah
“ขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ” ที่พวกเขายกมาเป็นประเด็นโต้เถียงกับพระองค์ในวันนี้คือ “การล้างมือ”
    ชาวยิวต้องล้างมือก่อนและระหว่างกินอาหารโดยมีวัตถุประสงค์หลักไม่ใช่เพื่อให้มือสะอาดหรือเพื่อสุขอานามัยที่ดี  แต่เพราะ “ขนบธรรมเนียมของบรรพบุรุษ” กำหนดให้พวกเขาต้องล้างมือ “ตามพิธี” ที่กำหนดไว้อย่างละเอียดยิบและเคร่งครัด
น้ำสำหรับทำ “พิธีล้างมือ” ต้องสะอาดตามระเบียบ บรรจุในไหหินขนาดใหญ่ที่เตรียมไว้เป็นพิเศษ มีฝาปิดมิดชิด ปราศจากสิ่งอื่นเจือปน และสงวนไว้สำหรับพิธีล้างมือเท่านั้น จะใช้เพื่อการอื่นมิได้
พิธีล้างมือเริ่มด้วยการยกมือให้นิ้วชูขึ้นด้านบน แล้วใช้น้ำปริมาณเท่ากับความจุของไข่ไก่หนึ่งฟองครึ่งรดจากปลายนิ้วให้ไหลลงมาจนถึงข้อมือเป็นอย่างน้อย  ขณะที่มือทั้งสองยังเปียกอยู่ ให้ทำความสะอาดมือแต่ละข้างโดยใช้กำปั้นของมือข้างหนึ่งถูกับฝ่ามือของอีกข้างหนึ่งไปมาสลับกันเพื่อให้สิ่งสกปรกจำพวกทราย กรวด และปูนขาวหลุดออกไป  ต่อจากนั้นให้ยกมือโดยนิ้วชี้ลงด้านล่าง แล้วใช้น้ำเท่าเดิมรดจากข้อมือให้ไหลลงปลายนิ้ว เป็นอันเสร็จพิธีและถือว่ามือสะอาดแล้วตามที่ศาสนากำหนด
    ในสายตาของชาวยิว ผู้ที่ละเลยไม่ทำพิธีล้างมือก่อนกินอาหารถือว่าเป็นคนไม่สะอาดต่อหน้าพระเจ้า จะถูกปีศาจโจมตี จะประสบความยากจน และต้องพบกับความพินาศในที่สุด  ตามประวัติศาสตร์มีรับบีคนหนึ่งถูกฝังนอกเมือง (เทียบได้กับนอกป่าช้าในปัจจุบัน) เพียงเพราะไม่ได้ทำพิธีล้างมือก่อนกินอาหารเพียงครั้งเดียว  และยังมีรับบีอีกคนหนึ่งเกือบอดน้ำตายในคุกของโรมันเพราะใช้น้ำสำหรับดื่มมาทำพิธีล้างมือ
เขายอมหิวน้ำตายดีกว่าละเมิดกฎเรื่องความสะอาด !
    กฎเกณฑ์และจารีตพิธีเหล่านี้คือ “ศาสนา” ของพวกฟาริสีและธรรมาจารย์ พวกเขาถือว่า “นี่คือการรับใช้พระเจ้า”
    นอกจากนี้ในข้อ 4 ยังพูดถึง “ขนบธรรมเนียมอื่น ๆ อีกมาก” ซึ่งเราสามารถหาตัวอย่างอ่านได้จากหนังสือเลวีนิติบทที่ 11-15 และหนังสือกันดารวิถีบทที่ 19 ซึ่งว่าด้วย “ข้อกำหนดเกี่ยวกับการมีมลทินและไม่มีมลทิน” เช่น
    สัตว์ที่เคี้ยวเอื้องแต่ไม่มีสองกีบแยกกัน เช่นอูฐและกระต่ายป่า หรือสัตว์ที่มีสองกีบแยกกันแต่ไม่เคี้ยวเอื้อง เช่นหมู ล้วนมีมลทิน เพราะฉะนั้นห้ามกินและห้ามสัมผัสซากของมันเด็ดขาด (ลนต 11:4-8)
    สตรีหลังคลอดบุตร  คนโรคเรื้อน  คนที่สัมผัสศพ  คนต่างศาสนา บุคคลเหล่านี้ถือว่ามีมลทิน และเมื่อพวกเขาสัมผัสสิ่งใด สิ่งนั้นย่อมมีมลทินไปด้วย
    ชาวยิวที่เคร่งครัด “เมื่อกลับจากตลาด เขาจะไม่กินอาหารเว้นแต่จะได้ทำพิธีชำระตัวก่อน” (ข้อ 4) ก็เพื่อให้แน่ใจว่าสิ่งมีมลทินทั้งหลายที่อาจติดตัวมาจากตลาดได้ถูกกำจัดให้หมดสิ้นไปแล้ว
    ตอนปลายสุดของข้อ 4 กล่าวถึง “การล้างถ้วย จานชาม และภาชนะทองเหลือง” เพราะภาชนะเหล่านี้มีมลทินได้ง่ายมากหากสัมผัสกับคนหรืออาหารที่มีมลทิน จึงจำเป็นต้องล้างให้ถูกต้อง “ตามพิธี” อย่างเคร่งครัด
    ในหนังสือ Mishnah ยังระบุกฎเกณฑ์หยุมหยิมเกี่ยวกับภาชนะต่าง ๆ ไว้อีกมากมายจนน่าปวดหัว  ตัวอย่างเช่น ภาชนะดินเผาที่มีรูถือว่าสัมผัสมลทินได้จากภายในเท่านั้น นั่นคือ หากคนหรืออาหารที่มีมลทินสัมผัสภายนอกภาชนะถือว่าไม่เป็นไร แต่ถ้าสัมผัสภายในภาชนะให้ถือว่ามีมลทิน  ภาชนะที่มีมลทินต้องทุบให้แตกเป็นเสี่ยง ๆ แต่ละเสี่ยงจะมีขนาดใหญ่จนบรรจุน้ำมันมากพอเจิมนิ้วเท้าหนึ่งนิ้วไม่ได้
    จานอาหารที่มีขอบอาจมีมลทินได้หากสัมผัสกับสิ่งที่มีมลทิน ส่วนจานอาหารที่ไม่มีขอบไม่มีทางมีมลทินได้เลยไม่ว่าจะสัมผัสกับอะไรก็ตาม
    ภาชนะที่ทำด้วยหนังสัตว์ กระดูก หรือแก้ว หากมีลักษณะแบนถือว่าไม่มีทางมีมลทิน  แต่ถ้ามีลักษณะกลวงย่อมมีมลทินได้จากการสัมผัสสิ่งมีมลทินทั้งจากภายในและภายนอก
    ไม้ที่ติดกับภาชนะโลหะอาจมีมลทินได้ แต่โลหะที่ติดกับภาชนะไม้ไม่มีทางมีมลทิน
    ฯลฯ อีกมากกกกก...
จารีตพิธี กฎเกณฑ์ และระเบียบมากมายเหลือคณานับเหล่านี้คือ “แก่นแท้ของศาสนา” สำหรับบรรดาธรรมาจารย์และฟารีสี  ผู้ใดละเมิดถือว่าทำบาป  ผู้ใดปฏิบัติตามถือว่าเป็น “คนดี” และเป็นผู้ที่พระเจ้าทรงพอพระทัย
นี่คือจุดแตกหักระหว่างพระเยซูเจ้ากับพวกฟาริสีและธรรมาจารย์  สำหรับพระองค์ “แก่นแท้ของศาสนาคือการรักพระเจ้า และรักเพื่อนมนุษย์”
    ด้วยมุมมองที่แตกต่างกันเช่นนี้ พระองค์จึงตอบคำถามของพวกเขาโดยอ้างคำพูดของประกาศกอิสยาห์ที่กล่าวตำหนิประชาชนในสมัยนั้นที่นับถือพระเจ้าแต่ปาก ส่วนหัวใจนั้นอยู่ห่างไกลจากพระองค์ยิ่งนัก (อสย 29:13)
    พูดง่าย ๆ คือพระองค์ทรงตำหนิพวกเขาว่า “ปากกับใจไม่ตรงกัน” หรือ “คนหน้าซื่อใจคด” (ข้อ 6)
คนหน้าซื่อใจคด  มาจากภาษากรีก hupokrites (ฮูปอครีแตส) เดิมหมายถึง “ผู้ตอบ” แล้วพัฒนาเป็น “ผู้ตอบเป็นชุด เป็นบทสนทนา” ซึ่งได้แก่ “นักแสดง”  และท้ายที่สุดหมายถึง "ผู้ที่ใช้ชีวิตเหมือนนักแสดงโดยไม่มีความจริงใจหลงเหลืออยู่เลย”      
ผู้ใดก็ตามที่เห็นศาสนาเป็นเรื่องของการถือตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนด และจารีตพิธีต่าง ๆ ที่สุดแล้วจะลงเอยแบบเดียวกันคือเป็น “คนหน้าซื่อใจคด”
เหตุผลคือ เขาเชื่อว่าตนเองเป็น “คนดี” เพราะได้ “ปฏิบัติตามกฎระเบียบต่าง ๆ อย่างครบถ้วนเคร่งครัด” แล้ว จึงไม่สนใจว่าความคิดและจิตใจของตนจะเป็นอย่างไร !
ตัวอย่างเช่น คนคนหนึ่งอาจจะเกลียดชังเพื่อนบ้านแบบเข้ากระดูกดำ มีจิตใจอิจฉาริษยาและเย่อหยิ่งจองหองอวดดี  แต่ตราบใดที่เขาถือกฎเกณฑ์เรื่องการล้างมือและระมัดระวังตัวไม่ให้มีมลทิน ตราบนั้นยังถือว่าเขาเป็น “คนดี” และได้รับใช้พระเจ้าแล้ว
จริงอยู่เขาอาจรับใช้พระองค์ภายนอกแบบนักแสดง  แต่ภายในจิตใจนั้นเขาไม่ได้เชื่อฟังพระองค์เลย
นี่คือ “คนหน้าซื่อใจคด” !
ปกติชาวโมฮัมเมดานที่เคร่งครัดจะสวดภาวนาตามกำหนดเวลา  พวกเขามักพกเสื่อติดตัวไปด้วยเสมอเพื่อใช้ปูพื้นและคุกเข่าสวดภาวนาเมื่อถึงกำหนด  มีเรื่องเล่าว่าชาวโมฮัมเมดานคนหนึ่งกำลังถือมีดวิ่งไล่ฆ่าชายคนหนึ่ง  บังเอิญเสียงระฆังเตือนให้สวดภาวนาดังแว่วมา เขาหยุดวิ่งทันที กางเสื่อ คุกเข่า และสวดภาวนาอย่างเร่งรีบ เสร็จแล้วจึงออกวิ่งตามฆ่าชายคนนั้นต่อไปอย่างไม่ลดละ
จะเห็นว่าการสวดภาวนาของเขาเป็นเพียงพิธีกรรมสลับฉากช่วงพักครึ่งจากการไล่ล่าฆ่าคนเท่านั้น
นี่คืออันตรายใหญ่หลวงที่สุดของการนับถือศาสนาเพียงภายนอก หรือการถือว่าความดีคือการปฏิบัติตามกฎหมายของพระศาสนจักรทุกมาตราและทุกตัวอักษร !
เพราะการไปวัดวันอาทิตย์ การอ่านพระคัมภีร์ การให้ทาน รวมถึงการสวดภาวนาหาได้ทำให้ผู้หนึ่งผู้ใดเป็น “คนดี” ไม่  แต่ท่าทีของหัวใจที่เขามีต่อพระเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ต่างหากที่ทำให้เขาเป็นคนดีหรือไม่ดี ?!
จะมีประโยชน์อะไรหากไปวัดหรือสวดภาวนาโดยไม่รักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ ?
อีกประการหนึ่ง พระเยซูเจ้าทรงตำหนิพวกฟาริสีและธรรมาจารย์ว่า “ละเลยบทบัญญัติของพระเจ้า และกลับไปถือขนบธรรมเนียมของมนุษย์” (ข้อ 8)
ความหมายคือแทนที่จะฟังพระเจ้า พวกเขากลับสนใจฟังคำโต้แย้ง ข้อถกเถียง และเหตุผลตามประสามนุษย์เพื่อตีความและคิดค้นระเบียบกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ขึ้นมา
แต่ศาสนาที่แท้จริงอยู่ที่การเชื่อฟังพระเจ้า หาใช่เป็นผลผลิตจากสติปัญญาของมนุษย์แต่ประการใดไม่ !!!
ลำพังเท่าที่กล่าวมานี้ คำสอนของพระเยซูเจ้าก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงจนพวกฟาริสีและธรรมาจารย์ยอมรับไม่ได้แล้ว
แต่เท่านี้ยังไม่พอ พระองค์ยังทำให้พวกเขาตกตะลึงเพิ่มขึ้นไปอีกเมื่อทรงตรัสว่า “ไม่มีสิ่งใดเลยจากภายนอกของมนุษย์ทำให้เขามีมลทินได้ แต่สิ่งที่ออกมาจากภายในของมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน” (ข้อ 15)
    จะมีชาวยิวคนใดยอมรับคำสอนใหม่นี้ได้ เพราะในสมัยของมัคคาบีเคยมีคนยอมตายแต่ไม่ยอมกินของมีมลทินมาแล้ว !
    เรื่องมีอยู่ว่ากษัตริย์ซีเรียพระองค์หนึ่งนามว่า อันติโอคุส เอปีฟาแนส (Antiochus Epiphanes) ต้องการทำลายศาสนายิวแบบขุดรากถอนโคนจึงบังคับให้ชาวยิวกินหมูซึ่งเป็นสัตว์มีมลทิน  ชาวยิวหลายร้อยคนยอมถูกประหารชีวิต แต่ไม่ยอมละเมิดบัญญัติทางศาสนาของตน (1 มคบ 1:62-63)
    ด้วยคำพูดเพียงประโยคเดียวคือ “ไม่มีสิ่งใดเลยจากภายนอกของมนุษย์ทำให้เขามีมลทินได้” พระองค์ทรงลบล้างกฎเกณฑ์ที่ชาวยิวยึดถือโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพันมาแล้ว !
    แม้พวกอัครสาวกเองก็ไม่เข้าใจ (มก 7:17)
    จนพระองค์ต้องอธิบายเชิงตำหนิพวกเขาว่า “ท่านก็ไม่มีปัญญาด้วยหรือ ท่านไม่เข้าใจหรือว่าสิ่งต่าง ๆ จากภายนอกที่เข้าไปในมนุษย์นั้นทำให้เขามีมลทินไม่ได้  เพราะมันไม่ได้เข้าไปในใจ แต่ลงไปในท้อง แล้วออกไปจากร่างกาย” (มก 7:18-19)
    นั่นคือ “อาหารทุกชนิดไม่เป็นมลทิน” (มก 7:19) เพราะเมื่อกินเข้าไปแล้ว ร่างกายจะย่อยและขับถ่ายออกไปในที่สุด
ประเด็นของพระองค์คือ ไม่มีอาหารหรือสิ่งใดในโลกนี้ที่ “บริสุทธิ์” หรือ “มีมลทิน” โดยการบัญญัติของศาสนา
    พูดง่าย ๆ คือ ศาสนาจะมากำหนดว่า หมู เห็ด เป็ด ไก่ ปลาไหล ปลาร้า ละมุด มังคุด พุทรา โต๊ะ เตียง จาน ชาม ตะเกียบ ปืนผา หน้าไม้ รวมถึงไม้จิ้มฟันยันเรือรบ “บริสุทธิ์” หรือ “มีมลทิน” ไม่ได้
    มีแต่ “คน” เท่านั้นแหละที่สามารถ “มีมลทิน” ได้ !
    และสิ่งที่ทำให้คนมีมลทินได้ก็คือ “กิจการ” ซึ่งเป็น “ผลผลิตจากจิตใจ” ของเขาแต่ละคนนั่นเอง !!!
    พระองค์จึงตรัสว่า “สิ่งที่ออกมาจากภายในของมนุษย์นั้นแหละทำให้เขามีมลทิน” พร้อมกับทรงยกตัวอย่างกิจการชั่วร้ายที่ออกมาจากภายในและทำให้มนุษย์มีมลทินด้วย
    กิจการชั่วร้ายทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มต้นมาจากความคิดและการตัดสินใจเลือกสิ่งที่ชั่วร้ายเสียก่อน  พระองค์จึงยกเอา “ความคิดชั่วร้าย” มาเป็นสิ่งแรกที่ทำให้มนุษย์มีมลทิน
    มลทินอื่นคือ การประพฤติผิดทางเพศ การมีชู้ และการฆ่าคน ล้วนมีความหมายชัดเจนในตัวอยู่แล้ว
    “การลักขโมย”  ในภาษากรีกมี 2 คำคือ kleptēs  (เคลพเตส) ซึ่งหมายถึงขโมยหรือยักยอก ดังเช่นยูดาสที่ยอห์นเล่าว่า “เขาเป็นขโมย เขาเป็นผู้ถือถุงเงินและยักยอกเงินในถุงนั้น” (ยน 12:6)  อีกคำหนึ่งคือ lēstēs (เลสเตส) อันหมายถึงโจร เหมือนนักโทษประหารบารับบัสที่ได้รับการปล่อยตัวแทนพระเยซูเจ้า (ยน 18:40)  เพราะฉะนั้นมลทินประการนี้จึงหมายรวมทั้งการเป็นโจร ขโมย และยักยอกด้วย
    “ความโลภ” ตามรากศัพท์ภาษากรีกหมายถึง “การมีมากขึ้น”  มีผู้ให้คำจำกัดความของความโลภไว้หลายอย่าง เช่น “ความอยากมีอันอัปรีย์”, “จิตใจที่ยึดฉวยในสิ่งที่ไม่ควรจะได้มา” ฯลฯ  อนึ่ง ความอยากมีนี้มิได้จำกัดเฉพาะเงินทองหรือสิ่งของเท่านั้น แต่หมายรวมถึงความอยากมีอำนาจ และอยากมีราคะตัณหาทางเนื้อหนังอย่างไม่รู้จักเพียงพออีกด้วย
    “การทำร้าย”  น่าสังเกตว่าภาษากรีกไม่ได้ใช้คำ kakos (คาคอส) ซึ่งหมายถึงกิจการร้ายที่จำกัดวงอยู่ภายในตัวของมันเอง แต่ใช้คำ ponēros (ปอเนรอส) ซึ่งหมายถึงกิจการร้ายที่ก่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้อื่นจริง ๆ  คนประเภทนี้ชอบสร้างปัญหาให้กับเพื่อนบ้าน ชอบหากางเขนให้ผู้อื่นแบก อารมณ์ร้าย และชอบชักนำคนอื่นให้หลงผิด
    เรียกว่าเขาไม่เพียงทำให้ตัวเองชั่วร้ายเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้อื่นชั่วร้ายตามไปด้วย  จึงต้องถือว่าเขามีพฤติกรรมเหมือนกับ “ซาตาน” ผู้ได้รับสมญานามเป็นภาษากรีกว่า Ponēros  (ปอเนรอส) และภาษาอังกฤษว่า “the Evil One” จริง ๆ
    “การฉ้อโกง” หมายถึงการใช้เล่ห์เหลี่ยมด้วยเจตนาจะหลอกลวงผู้อื่น ตัวอย่างเช่นการใช้กับดักหนูเพื่อหลอกและจับหนู  หรือการที่ชาวกรีกยึดเมืองทรอยได้โดยใช้ “ม้าไม้” เป็นต้น
    “การสำส่อน” ตรงกับภาษากรีก aselgeia (อาเสลเกิยอา) หมายถึงสภาพจิตใจที่ขัดขืนระเบียบวินัยทั้งมวล  เป็นจิตใจที่ขาดการยับยั้ง กล้าทำทุกสิ่งที่อำเภอใจและตัณหาจะพาไป
    ลักษณะของคนสำส่อนคือ ไร้ยางอาย สูญสิ้นซึ่งเกียรติยศและศักดิ์ศรี สามารถทำผิดได้โดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ และไม่ลังเลใจเลยที่จะทำในสิ่งที่ไม่มีใครคาดฝัน  ตัวอย่างที่พบเห็นได้ในพระคัมภีร์คือพระนางเยเซเบลซึ่งกล้าสร้างพระแท่นถวายพระอื่นในกรุงเยรูซาเล็ม อันเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ขององค์พระผู้เป็นเจ้า
    “อิจฉา”  ตรงกับ Envy ในภาษาอังกฤษซึ่งมาจากคำ Evil (ชั่ว) รวมกับ Eye (ตา) คนอิจฉาจึงหมายถึงคนที่มี “ตาชั่ว” นั่นคือตาที่มองความสำเร็จและความสุขของผู้อื่นด้วยเจตนาร้ายราวกับจะกินเลือดกินเนื้อ
    “ใส่ร้าย”  ตรงกับภาษากรีก blasphēmia (บลาสเฟมีอา) เมื่อใช้กับมนุษย์หมายถึงการใส่ร้าย  เมื่อใช้กับพระเจ้าหมายถึงการดูหมิ่น  มลทินประการนี้จึงหมายถึงการดูหมิ่นเหยียดหยามทั้งพระเจ้าและมนุษย์
    “ความหยิ่งยโส”  ความหมายตามภาษากรีก huperēphania (ฮูเพเรฟานีอา) คือ “แสดงตัวว่าเหนือกว่า”  เป็นท่าทีของคนที่ดูหมิ่นเหยียดหยามทุกคนยกเว้นตัวเอง  ท่าทีนี้อาจอยู่ภายในใจโดยไม่แสดงออกก็ได้ เช่นคนที่แลดูสุภาพอ่อนน้อม แต่ภายในจิตใจนั้นเต็มไปด้วยการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น และผลของการเปรียบเทียบคือตัวเองดีกว่าคนอื่นเสมอ
    ความหยิ่งยโสนี้ไม่เพียงทำให้เราคิดว่าดีกว่าคนอื่นเท่านั้น แต่ยังก้าวล่วงไปถึงขอบเขตของพระเจ้าอีกด้วย  คนหยิ่งยโสมักตั้งตัวเองเป็นปรปักษ์กับพระเจ้าและละเมิดสิทธิของพระองค์  ความหยิ่งยโสจึงเป็น “สุดยอดแห่งความชั่วร้าย”
    ด้วยเหตุนี้ “พระเจ้าทรงต่อต้านคนเย่อหยิ่ง” (ยก 4:6)
    “ความโง่เขลา”  ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความด้อยสติปัญญา แต่หมายถึงความโง่เขลาทางด้านศีลธรรม หรือพูดง่าย ๆ คือแกล้งโง่ แกล้งเซ่อ แกล้งไม่รู้ จะได้ทำชั่วหรืองดเว้นไม่ทำดีได้โดยสะดวกใจ
    
ฟังแล้วหลายคนอาจตกใจกลัวจนตัวสั่น หรือบางคนอาจท้อแท้สิ้นหวังที่จะก้าวหน้าต่อไปในหนทางของพระเจ้า
    แต่นี่ไม่ใช่คำสั่งเบ็ดเสร็จเด็ดขาดให้งดเว้นจากความชั่วร้ายที่กล่าวมา
    พระองค์เพียงเรียกร้องให้เรา “สำรวจจิตใจและมโนธรรมของเราอย่างจริงจังตรงไปตรงมาว่ารักพระเจ้าและรักเพื่อนมนุษย์เหนือสิ่งอื่นใดหรือไม่” เท่านั้น !!!

มก 6:30-34 ท่านทั้งหลายจงมาพักผ่อนกับเราตามลำพังในที่สงัดระยะหนึ่งเถิด

Related imageข่าวดี    มาระโก 6:30-34
(30)บรรดาอัครสาวกกลับมาเฝ้าพระเยซูเจ้าและทูลรายงานให้ทรงทราบถึงทุกสิ่งที่เขาได้ทำและได้สอน  (31)พระองค์จึงตรัสกับเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงมาพักผ่อนกับเราตามลำพังในที่สงัดระยะหนึ่งเถิด” เพราะมีคนไปมาจนเขาไม่มีเวลาแม้กระทั่งจะกินอาหาร  (32)พระเยซูเจ้าจึงทรงลงเรือไปยังที่สงัดพร้อมกับบรรดาอัครสาวก  (33)ประชาชนหลายคนเห็นพระเยซูเจ้ากับบรรดาอัครสาวกแล่นเรือออกไป ก็คาดคะเนได้ว่า  พระองค์จะทรงไปที่ใด จึงรีบเดินเท้าออกจากเมืองต่าง ๆ ไปที่นั่นและไปถึงก่อน  (34)เมื่อเสด็จขึ้นจากเรือ ทรงแลเห็นประชาชนมากมายก็ทรงสงสาร เพราะเขาเหล่านั้นเป็นดังฝูงแกะไม่มีคนเลี้ยง พระองค์จึงทรงเริ่มสั่งสอนเขาหลายเรื่อง

คำอธิบาย
พระวรสารของวันอาทิตย์ที่แล้ว เล่าเรื่องพระเยซูเจ้าส่งอัครสาวกทั้งสิบสององค์ออกไปประกาศข่าวดีเรื่องการกลับใจ และเรื่องความรักของพระเจ้า โดยทรงกำชับให้ทุกคนดำเนินชีวิตเรียบง่าย เปี่ยมด้วยความวางใจ และมีใจกว้างต่อผู้อื่นอย่างถึงที่สุด
วันนี้ “บรรดาอัครสาวกกลับมาเฝ้าพระเยซูเจ้า และทูลรายงานให้ทรงทราบถึงทุกสิ่งที่เขาได้ทำและได้สอน” (ข้อ 30) 
พร้อม ๆ กับการกลับมาของพวกอัครสาวกก็คือประชาชนจำนวนมากมายที่ประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือ จนว่าพวกเขาไม่มีเวลาแม้กระทั่งจะกินอาหาร (ข้อ 31)
พระองค์จึงตรัสกับพวกเขาว่า “ท่านทั้งหลายจงมาพักผ่อนกับเราตามลำพังในที่สงัดระยะหนึ่งเถิด” (ข้อ 31)
วาจานี้ต้องถือว่าเป็น “วงจรชีวิตของคริสตชน” โดยแท้ !
ลักษณะของวงจรนี้คือ การปลีกตัวจากฝูงชนมาอยู่ต่อหน้าพระเจ้า และกลับไปทำงานท่ามกลางฝูงชนหลังจากพบพระเจ้าแล้ว
วงจรชีวิตคริสตชนต้องหมุนเวียนเช่นนี้เรื่อยไปไม่มีวันจบสิ้น เหมือนวงจรของ “การนอน” และ “การทำงาน”
เราไม่มีทางทำงานได้เลยหากเราไม่มีเวลาสำหรับนอนหลับพักผ่อน  และเราไม่มีทางนอนหลับพักผ่อนได้ หากเราไม่ทำงานจนเหน็ดเหนื่อย !
ใน “วงจรชีวิตของคริสตชน”  มีอันตรายอยู่ 2 ประการที่เราต้องเฝ้าระวังมากเป็นพิเศษ นั่นคือ
1.    มุ่งงานเกินไป  ไม่มีใครทำงานได้โดยไม่พักผ่อนฉันใด ก็ไม่มีผู้ใดสามารถเจริญชีวิตคริสตชนได้โดยไม่มีพระคริสตเจ้าฉันนั้น
    ดูเหมือนปัญหาใหญ่ของเราเกือบทุกคนคือ เราไม่เปิดโอกาสให้พระเจ้าตรัสกับเรา  และเราไม่ให้เวลาพระองค์สำหรับเพิ่มเรี่ยวแรงและพละกำลังแก่เรา
    พูดง่าย ๆ คือ เราไม่ยอมให้พระองค์ “ชาร์จแบต” ในตัวเรา !
    เราจะทำงานของพระเจ้าได้อย่างไร หากปราศจากพละกำลังจากพระเจ้า ? เราจะแบกภาระหนักไว้บนบ่าของเราได้อย่างไร หากปราศจากความช่วยเหลือจากพระองค์ ?
    และเราจะรับพละกำลังและความช่วยเหลือจากพระเจ้าได้อย่างไร หากเราหมกมุ่นอยู่กับงานมากเกินไปจนไม่มีเวลาเงียบสงบต่อหน้าพระพักตร์ของพระองค์ ?
2.    สนใจงานน้อยเกินไป  นี่ก็อันตรายมากเหมือนกัน หากเราศรัทธาต่อพระเจ้าและอุทิศเวลาทั้งหมดแด่พระองค์จนไม่มีเวลาเหลือสำหรับทำงานเพื่อพระองค์เลย
    อย่าลืมว่า คำภาวนาที่ปราศจากกิจการคือคำภาวนาที่ตายแล้ว (Prayer without deeds is dead.) !
    เราสนิทสัมพันธ์กับพระเจ้าไม่ใช่เพื่อเลี่ยงการคบหาสมาคมกับเพื่อนมนุษย์ แต่เพื่อทำให้เราเหมาะสมและมีพละกำลังมากขึ้นที่จะทำงานเพื่อพวกเขา
    เพราะวงจงชีวิตของเราคือการพบปะพระเจ้าในที่เงียบสงัด และรับใช้เพื่อนมนุษย์ในที่เปิดเผย !

เพื่อจะแสวงหาสถานที่เงียบสงัด “พระเยซูเจ้าจึงทรงลงเรือไปพร้อมกับบรรดาอัครสาวก” (ข้อ 32) โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่ฟากตะวันออกของทะเลสาบกาลิลี
จากจุดที่พระองค์เสด็จลงเรือจนถึงอีกฟากหนึ่งของทะเลสาบมีระยะทางประมาณ 6.5 กิโลเมตร  แม้ว่าการเดินเท้าเลียบชายฝั่งไปทางเหนือของทะเลสาบจะมีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตรซึ่งไกลกว่าการเดินทางโดยเรือมาก  แต่กรณีที่เกิดลมพัดแรงจัดหรือพัดสวนทาง ผู้ที่เดินทางเท้ามักจะมาถึงจุดหมายปลายทางก่อนผู้ที่มาทางเรือ
และนี่คือสิ่งที่บังเอิญเกิดขึ้นจริง เพราะ “เมื่อเสด็จขึ้นจากเรือ ทรงแลเห็นประชาชนมากมาย” (ข้อ 34)
เท่ากับว่าความหวังที่จะได้พบกับความเงียบสงัดและการพักผ่อนเป็นอันต้องหลุดลอยไปอีกครั้ง !
หากความเป็นส่วนตัวของเราถูกรบกวนเช่นนี้ พวกเราหลายคนคงรู้สึกไม่พอใจมาก ที่ผ่านมามีบางคนโกรธจัดจนควบคุมอารมณ์ไม่อยู่และแสดงอากัปกิริยาไม่สุภาพต่อนักข่าว หรือบางคนถึงกับต้องขอศาลเป็นที่พึ่งก็เคยปรากฏเป็นข่าวมาแล้ว
แต่พระเยซูเจ้า “ทรงสงสาร เพราะเขาเหล่านั้นเป็นดังฝูงแกะไม่มีคนเลี้ยง” (ข้อ 34)
จะเกิดอะไรขึ้นหากฝูงแกะไม่มีคนเลี้ยง ???
1.    แกะไม่รู้จักทาง  แค่ยืนอยู่ตามลำพังตรงสี่แยกที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เราก็คงงงเป็นไก่ตาแตกไปแล้ว  แต่ชีวิตของเรามีความสลับซับซ้อนมากกว่าสี่แยกมากมายเหลือคณานับ
    หากเรามีพระเยซูเจ้าคอยนำทางชีวิต และเราดำเนินชีวิตตามหนทางนั้น เราจะไม่มีวันงงหรือหลงทางเลย !
2.    แกะไม่มีทุ่งหญ้าและอาหาร  มนุษย์ทุกคนต้องการอาหารเพื่อยังชีพ จะได้มีพลังเพื่อดำเนินชีวิต อีกทั้งมีแรงบันดาลใจที่จะก้าวออกจากตัวเอง และไปให้ไกลจากตัวเองมากที่สุดเท่าที่จะมากได้เพื่อบรรลุความยิ่งใหญ่สูงสุดที่ได้อุทิศตนเพื่อมวลมนุษยชาติ
    หากเราแสวงหาอาหาร พละกำลัง และแรงบันดาลใจจากโลกนี้  สติปัญญาของเราจะไม่มีวันพึงพอใจ จิตใจของเราจะไม่มีวันสงบ และวิญญาณของเราจะไม่มีวันอิ่มหนำ
    เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เราไม่สามารถแสวงหาได้จากที่อื่น นอกจากพระเยซูเจ้า ผู้ทรงเป็นปังทรงชีวิต เท่านั้น
3.    แกะไม่มีผู้ปกป้อง  หากขาดผู้เลี้ยงแกะ แกะไม่มีทางป้องกันตัวเองจากภยันตรายหรือการคุกคามต่าง ๆ ได้เลย ไม่ว่าจะจากโจร จากขโมย หรือจากสัตว์ป่าก็ตาม
    ประสบการณ์ชีวิตพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไม่มีใครสามารถดำเนินชีวิตได้ตามลำพัง !
    ใครจะช่วยแนะนำเรา ปกป้องเรา เป็นกำลังใจให้เราผ่านการทดสอบและความเลวร้ายต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตของเรา ?
    มีเพียงพระเยซูเจ้าเท่านั้นที่เป็น “คู่ชีวิต” ที่สามารถนำพาเราฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างปลอดภัย 

ในเมื่อพระเยซูเจ้าไม่เคยเหนื่อยหน่ายที่จะช่วยเหลือเรา เมื่อใดเราจะเริ่มหมุนวงจรชีวิตคริสตชนสักที ?!

มก 6:7-13 พระเยซูเจ้าทรงส่งอัครสาวกสิบสองคน

ข่าวดี    มาระโก 6:7-13
พระเยซูเจ้าทรงส่งอัครสาวกสิบสองคน
    พระองค์เสด็จไปทรงสั่งสอนตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในบริเวณนั้น  (7)ทรงเรียกอัครสาวกสิบสองคนเข้ามาพบ และทรงเริ่มส่งเขาเป็นคู่ ๆ ประทานอำนาจเหนือปีศาจ  (8)ทรงกำชับเขามิให้นำสิ่งใดไปด้วย นอกจากไม้เท้าเท่านั้น ไม่ให้มีอาหาร ไม่ให้มีย่าม  ไม่ให้มีเศษเงินใส่ไถ้  (9)ให้สวมรองเท้าได้ แต่ไม่ให้เอาเสื้อสำรองไปด้วย  (10)พระองค์ตรัสกับเขาว่า “ถ้าท่านเข้าไปในบ้านใด จงพักอยู่ที่นั่นจนกว่าจะออกเดินทางต่อไป  (11)ถ้าที่ใดไม่ต้อนรับท่าน หรือไม่ฟังท่าน จงออกจากที่นั่น พลางสลัดฝุ่นจากเท้าไว้เป็นพยานปรักปรำเขา”  (12)บรรดาอัครสาวกจึงไปเทศน์สอนคนทั้งหลายให้กลับใจ (13)ขับไล่ปีศาจจำนวนมาก เจิมน้ำมันผู้เจ็บป่วยหลายคน และรักษาเขาให้หายจากโรคภัย

คำอธิบาย
    หลังจากชาวเมืองนาซาเร็ธปฏิเสธไม่ยอมรับพระเยซูเจ้า เพราะต่างรู้จักวงศาคณาญาติของพระองค์เป็นอย่างดี  พระองค์จึงเสด็จไปสั่งสอนตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง และทรงเริ่มส่งอัครสาวกทั้งสิบสองคนออกไปเทศน์สอนเป็นคู่ ๆ พร้อมกับกำชับพวกเขามิให้นำสิ่งใดติดตัวไปด้วย โดยทรงลงในรายละเอียดแม้กระทั่งเรื่องการแต่งกายของพวกเขา
    เครื่องแต่งกายของชาวยิวในสมัยนั้นมี 5 ชิ้นด้วยกันคือ เสื้อยาว เสื้อคลุม ผ้าคาดเอว ผ้าโพกศีรษะ และรองเท้า
    “เสื้อยาว” คือเครื่องแต่งกายชั้นในสุดที่สัมผัสกับผิวหนัง ทำให้เปรอะเปื้อนคราบเหงื่อไคลได้ง่าย ชาวยิวจึงต้องมีเสื้อยาวอย่างน้อยคนละ 2 ตัวขึ้นไปเพื่อใช้สับเปลี่ยน  การตัดเย็บเสื้อยาวเป็นไปอย่างเรียบง่าย เพียงใช้ผ้ายาวพับครึ่งแล้วเย็บด้านข้างทั้งสองให้ติดกันจนมีลักษณะเหมือนถุงกระสอบ ยาวจากไหล่จนจรดเท้า และมักวางขายในสภาพถุงไม่มีรูเช่นนี้เพื่อแสดงว่าเป็นสินค้าใหม่  เมื่อตกลงซื้อขายกันแล้ว ผู้ขายจึงจะเจาะรูบริเวณที่เป็นมุมทั้งสองของก้นกระสอบสำหรับให้แขนรอดออกมา  และอีกรูหนึ่งตรงกลางก้นกระสอบสำหรับศีรษะ  เสื้อยาวสามารถใช้ได้ทั้งชายและหญิง เพียงแต่ของผู้หญิงมักคว้านคอลึกกว่าเพื่อความสะดวกในการให้นมบุตร
    เสื้อยาวที่แสนจะเรียบง่ายนี้เองที่พระเยซูเจ้าทรงกำชับห้ามนำสำรองติดไป 2 ตัว !
    ส่วน “ผ้าคาดเอว” นั้นทำหน้าที่เหมือนเข็มขัด  เพื่อความคล่องตัวเวลาทำงานหรือวิ่งสามารถดึงเสื้อยาวรวมทั้งเสื้อคลุมให้เลื่อนขึ้นมาม้วนไว้เหนือผ้าคาดเอวได้  ปลายของผ้าคาดเอวทั้งสองข้างจะยาวจากจุดที่เป็นเงื่อนปมเหมือนหัวเข็มขัดออกไปอีกข้างละประมาณฟุตครึ่ง และมักทำเป็น 2 ชั้นเพื่อใช้เป็นกระเป๋าใส่เงินที่เรียกว่า “ไถ้”
    แม้จะยอมให้ใช้ผ้าคาดเอวได้ แต่ส่วนที่เป็น “ไถ้” หรือกระเป่าใส่เงิน พระองค์ห้ามใส่แม้แต่ chalkon (คาลคอน) ซึ่งเป็นเหรียญทองแดงที่มีค่าต่ำสุด !
    อีกสิ่งหนึ่งที่ทรงห้ามโดยไม่เกี่ยวกับเครื่องแต่งกายคือ “ย่าม”
    “ย่าม” ตรงกับภาษากรีก pera (เปรา) ซึ่งมีหมายความ 2 สิ่ง
    สิ่งแรกหมายถึง ถุงย่ามทำด้วยหนังแพะ มีสายสะพายไหล่ เหมาะสำหรับนักเดินทาง คนเลี้ยงแกะ และผู้จาริกแสวงบุญใช้ใส่ขนมปัง องุ่นแห้ง มะกอก และเนยแข็งเพียงพอสำหรับรับประทานได้วันหรือสองวัน
    สิ่งที่สอง หมายถึงถุงใส่เงินบริจาคที่พระสงฆ์และผู้ศรัทธาเทพเจ้าทั้งหลายใช้ใส่เงินที่ได้จากการออกเรี่ยไรตามหมู่บ้านต่าง ๆ กลับมาถวายแด่เทพเจ้าและวิหารของตน  นักโบราณคดีพบจารึกระบุว่า มีชาวซีเรียคนหนึ่งนำเงินบริจาคกลับมาถวายเทพีของเขาเที่ยวละ 70 ถุง (เปรา) เต็ม
    ถ้าเรายึดเอาสิ่งแรก ย่อมหมายความว่าบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าต้องไม่นำเสบียงติดตัวไประหว่างเดินทาง  พวกเขาต้องวางใจพระเจ้าในทุกสิ่ง
    ถ้าเรายึดเอาสิ่งที่สอง ก็แปลว่า พวกศิษย์ต้องไม่โลภเพราะ พวกเขาถูกส่งไปเพื่อ “ให้” ไม่ใช่ “เอา” !
    เราจะเห็นได้ว่า เครื่องหมายที่ชัดเจนของการเป็นศิษย์พระเยซูเจ้าคือ ความเรียบง่ายอย่างที่สุด  ความวางใจในพระเจ้าอย่างเต็มเปี่ยม  และความใจกว้างที่มีแต่คำว่า “ให้” โดยไม่มีการเรียกร้อง !!!

    การต้อนรับผู้มาเยือนถือเป็นหน้าที่ศักดิ์สิทธิ์ในปาเลสไตน์  เมื่อมีคนแปลกหน้าเข้ามาในหมู่บ้าน เขาไม่ต้องออกแรงแสวงหาที่พัก แต่เป็นหน้าที่ของชาวบ้านที่จะต้อนรับเขา
    นี่คือเหตุผลว่าทำไมพระเยซูเจ้าจึงตรัสสั่งพวกศิษย์ว่า “ถ้าท่านเข้าไปในบ้านใด จงพักอยู่ที่นั่นจนกว่าจะออกเดินทางต่อไป” (ข้อ 10)
    แต่ในเวลาเดียวกัน พวกรับบีก็มีกฎอยู่ว่า “ฝุ่นจากดินแดนต่างชาติทำให้มีมลทิน ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างแดนจะต้องสลัดฝุ่นที่ติดตัวมาทิ้งให้หมดก่อนเข้าสู่แผ่นดินปาเลสไตน์”
    กฎข้อนี้บ่งบอกว่าชาวยิวปฏิเสธหัวเด็ดตีนขาดที่จะคบหาสมาคมกับคนต่างชาติ หรือแม้แต่จะยุ่งเกี่ยวกับฝุ่นดินจากดินแดนของคนต่างศาสนา
    เมื่อพระองค์ตรัสสั่งว่า “ถ้าที่ใดไม่ต้อนรับท่าน หรือไม่ฟังท่าน จงออกจากที่นั่น พลางสลัดฝุ่นจากเท้าไว้เป็นพยานปรักปรำเขา” (ข้อ 11) จึงเท่ากับพระองค์ต้องการสั่งว่า “ถ้าเขาไม่ฟังท่าน ให้เดินตามกฎอันเคร่งครัดของชาวยิว นั่นคือถือว่าบ้านนั้นเป็นของคนต่างศาสนา”
    พูดอีกอย่างคือ ต้องไม่มีการประนีประนอมกับผู้ไม่มีความเชื่อเด็ดขาด !
    หรือให้ทันสมัยขึ้นมาอีกนิดคือ ต้องไม่อะลุ้มอล่วยหรือยอมไหลไปตามกระแสของโลกเป็นอันขาด !

    “บรรดาอัครสาวกจึงไปเทศน์สอนคนทั้งหลายให้กลับใจ ขับไล่ปีศาจจำนวนมาก เจิมน้ำมันผู้เจ็บป่วยหลายคน และรักษาเขาให้หายจากโรคภัย” (ข้อ 12-13)
    นี่คือข้อความที่สรุปงานของผู้ที่เป็นศิษย์ของพระเยซูเจ้าได้กระชับที่สุด กล่าวคือ
    1.    เทศน์สอน ตรงกับภาษากรีก kerussō (เครุสโซ) ซึ่งมีความหมายตามตัวอักษรคือ “การประกาศของผู้นำสาสน์” 
        ในอดีต พระมหากษัตริย์หรือบรรดาเจ้านายชั้นสูงจะมี “ผู้นำสาสน์” คอยทำหน้าที่ “นำสาสน์” ไปป่าวประกาศแก่ประชาชน
         ขอย้ำว่า “ผู้นำสาสน์” มีหน้าที่ “นำสาสน์” ไม่ใช่ “คิดค้นสาสน์” ขึ้นมาเองแล้วไปแอบอ้างประกาศในนามของพระมหากษัตริย์
        ศิษย์ของพระเยซูเจ้าทุกคนมีหน้าที่เทศน์สอน  แต่การ “เทศน์สอน” ต้องเป็นการ “นำสาสน์ของพระเจ้า” ซึ่งเป็นสุดยอดของ “ข่าวดี” ไปประกาศแก่ประชาชน  ไม่ใช่นำความคิดเห็นหรือสิ่งที่ตนเองคาดคิดว่าน่าจะเป็น ไปป่าวประกาศแก่ผู้อื่น
        และเพื่อจะประกาศข่าวดีแก่ผู้อื่นอย่างได้ผล เรา “จำเป็น” ต้องได้รับข่าวดีจากพระเจ้าเสียก่อน !
    2.    ทำให้กลับใจ เพราะเป้าหมายของ “ข่าวดี” หรือ “สาสน์ของพระเจ้า” คือทำให้ทุกคน “กลับใจ”
        “กลับใจ” ไม่ได้หมายความเพียงแค่เรียนคำสอน และรับศีลล้างบาป !
        แต่ “การกลับใจ” ต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการซึ่งจะขาดเสียมิได้ นั่นคือ
        2.1    การเปลี่ยนความคิดและจิตใจ
        2.2    การเปลี่ยนความประพฤติและการกระทำให้สอดคล้องกับความคิดและจิตใจที่เปลี่ยนไป
        ในนวนิยายเรื่อง Quo Vadis (โคว วาดีส) ?  หนุ่มโรมันคนหนึ่งนามว่า Vinicius (วีนีชีอุส) ได้ตกหลุมรักหญิงสาวคริสตชนนางหนึ่ง แต่เธอไม่ยอมข้องเกี่ยวกับเขาจนกว่าเขาจะกลับใจเป็นคริสตชนเสียก่อน  วันหนึ่งเขาตามเธอไปร่วมศาสนพิธีที่แอบทำกันอย่างลับ ๆ  ขณะที่ฟังเปโตรเทศน์สอน เขาเกิดความปรารถนาจะดำเนินชีวิตตามคำสอนที่ได้รับฟัง และนำความคิด นิสัยใจคอ และธรรมชาติเดิม ๆ ของเขาไปเผาไฟทิ้งให้หมด  แล้วเติมชีวิตของเขาให้เต็มด้วยชีวิตและจิตใจใหม่ที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง
        นี่สิ จึงจะเรียกว่า “กลับใจจริง” !
        การกลับใจจึงไม่ใช่เรื่องของความรู้สึกเสียใจเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการ “ปฏิรูป” ชีวิตใหม่โดยแท้ !
        บางคนคิดว่าการกลับใจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับพวกโจร พวกหัวขโมย พวกฆาตกร คนมีชู้ หรือคนบาปเปิดเผยเท่านั้น
        แต่ไม่ใช่เลย การกลับใจเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเราทุกคน !
     เราสามารถเปลี่ยนชีวิตของเราจากการเป็นคนเห็นแก่ตัว  ชอบเรียกร้อง  ไม่เกรงใจผู้อื่น  เอาแต่ใจตัวเอง ฯลฯ ไปเป็นชีวิตที่มี “พระเจ้าเป็นศูนย์กลาง” 
        การประกาศข่าวดีโดยที่ยังไม่เกิดการกลับใจ จึงต้องถือว่ายังไม่บรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริง !
    3.    เมตตากิจ  บรรดาอัครสาวกไม่ได้เพียงเรียกร้องให้ประชาชน “กลับใจ” เท่านั้น แต่พวกเขาได้นำ “ความรักของพระเจ้า” ไปสู่ประชาชนด้วยการรักษาและช่วยเหลือพวกเขาให้รอดพ้นจากการเป็นทาสของปีศาจ ความยากจน และความเจ็บไข้ได้ป่วย
        “ข่าวดี” จึงไม่ใช่เรื่องของความรอดฝ่ายวิญญาณเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความรอดทั้งครบ ซึ่งรวมถึงความรอดฝ่ายกายด้วย !
        อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตก็คือ การใช้น้ำมันรักษาโรค ซึ่งถ้าพูดตามภาษาสมัยใหม่ก็ต้องบอกว่า “โลวเทค” (Low Tech) จัง
        แต่เราต้องไม่ลืมว่า คนในสมัยโบราณถือว่าน้ำมันเป็นยาครอบจักรวาล สามารถรักษาโรคได้ร้อยแปด  แม้แต่แพทย์กรีกผู้ยิ่งใหญ่นามว่า Galen (กาเลน) ยังกล่าวไว้ว่า “น้ำมันเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับรักษาโรคทางกาย”
        นี่ย่อมหมายความว่า บรรดาอัครสาวกใช้วิธีการเก่า ๆ ที่โลกสมัยนั้นรู้จัก  แต่เพราะได้รับอำนาจใหม่จากพระเยซูเจ้า พวกเขาทำให้วิธีการเก่าบังเกิดฤทธิ์ใหม่
        เท่ากับว่า ผู้ที่มีความเชื่อสามารถเข้าถึงพระฤทธานุภาพของพระเจ้าได้ โดยผ่านทางสิ่งปกติธรรมดาสามัญที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันนี่เอง !!!
    
พวกอัครสาวกได้นำ “ข่าวดี” แห่ง “การกลับใจ” และ “ความรักของพระเจ้า” ไปสู่ปวงประชา…..
    สิ่งนี้ยังคงเป็น “หน้าที่” ของพระศาสนจักรและของเราทุกคน วันนี้ และทุกวันตลอดไป ....

มก 6:1-6 พระเยซูเจ้าเสด็จกลับมาที่เมืองนาซาเร็ธ

ข่าวดี    มาระโก 6:1-6
พระเยซูเจ้าเสด็จกลับมาที่เมืองนาซาเร็ธ
    6  (1)พระเยซูเจ้าเสด็จออกจากที่นั่นกลับไปยังถิ่นกำเนิดของพระองค์ บรรดาศิษย์ติดตามไปด้วย  (2)ครั้นถึงวันสับบาโตพระองค์ทรงเริ่มสั่งสอนในศาลาธรรม ผู้ฟังมากมายต่างประหลาดใจ และพูดว่า “เขาเอาเรื่องทั้งหมดนี้มาจากไหน ปรีชาญาณที่เขาได้รับมานี้คืออะไร อะไรคืออัศจรรย์ที่สำเร็จด้วยมือของเขา  (3)คนนี้เป็นช่างไม้  ลูกนางมารีย์ เป็นพี่น้องของยา กอบ โยเสท ยูดาและซีโมนไม่ใช่หรือ พี่สาวน้องสาวของเขาก็อยู่ที่นี่กับพวกเรามิใช่หรือ” คนเหล่านั้นรู้สึกสะดุดใจและไม่ยอมรับพระองค์  (4)พระเยซูเจ้าตรัสแก่เขาว่า “ประกาศกย่อมไม่ถูกเหยียดหยามนอกจากในถิ่นกำเนิด  ท่ามกลางวงศ์ญาติ และในบ้านของตน”  (5)พระองค์ทรงทำอัศจรรย์ที่นั่นไม่ได้ นอกจากทรงปกพระหัตถ์รักษาผู้เจ็บป่วยบางคนให้หายจากโรคภัย  (6)พระองค์ทรงแปลกพระทัยที่เขาเหล่านั้นไม่มีความเชื่อ

คำอธิบาย
    พระเยซูเจ้าเสด็จกลับไปยังเมืองนาซาเร็ธถิ่นกำเนิดของพระองค์ ไม่ใช่เพื่อเยี่ยมบ้านและญาติพี่น้องเป็นการส่วนตัว  แต่ทรงนำบรรดาศิษย์ติดตามไปด้วย ซึ่งเท่ากับว่าพระองค์ทรงเสด็จไปในฐานะ “รับบี” หรือ “อาจารย์” ที่ส่วนใหญ่มักเดินทางสั่งสอนไปทั่วโดยมีศิษย์ใกล้ชิดแวดล้อมอยู่กลุ่มหนึ่ง
    และที่บ้านเกิดนี้เองที่พระองค์ทรงถูกท้าทายอย่างหนัก แถมยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง “โดยคนที่รู้จักพระองค์ตั้งแต่เป็นเด็ก” !
    พระองค์เสด็จไปสั่งสอนในศาลาธรรม แต่แทนที่พวกเขาจะชื่นชมในคำสอนและกิจการของพระองค์  พวกเขากลับไม่ยอมรับพระองค์ ดูถูกเหยียดหยามพระองค์ และรู้สึกสะดุดใจในปรีชาญาณและอัศจรรย์ที่สำเร็จด้วยน้ำมือของพระองค์
    จากพระวรสาร เราสามารถระบุสาเหตุที่ทำให้ชาวนาซาเร็ธไม่ยอมรับพระองค์ได้ดังนี้
    1.    พวกเขาพูดว่า “คนนี้เป็นช่างไม้ไม่ใช่หรือ ?”
        อันที่จริงคำกรีก tektōn (เทคโตน) ซึ่งแปลว่า “ช่างไม้” นั้น มีความหมายมากกว่าคนที่ทำงานเกี่ยวกับไม้ธรรมดา ๆ เช่นทำประตูหรือหน้าต่างบ้าน  แต่หมายถึงบุคคลระดับ “ช่าง” หรือ “ผู้ชำนาญการพิเศษ”  ในหนังสือของ Homer (โฮเมอร์) กล่าวถึง “เทคโตน” ว่าเป็นผู้สร้างเรือ สร้างบ้าน และสร้างพระวิหาร  กล่าวโดยสรุปคือ “เทคโตน” เป็นบุคคลระดับที่สามารถสร้างสรรค์งานฝีมือด้วยมือเปล่าหรือใช้เครื่องมือที่เรียบง่ายที่สุด
        แต่แทนที่ชาวนาซาเร็ธจะพูดถึงพระองค์ว่า “คนนี้เป็นถึงช่างไม้”  พวกเขากลับพูดว่า “คนนี้เป็นช่างไม้ไม่ใช่หรือ ?”
         เห็นได้ชัดเจนว่าพวกเขาไม่ยอมรับพระองค์ให้เป็นผู้มีความสามารถพิเศษหรือเป็นผู้ชำนาญงานไม้  ตรงกันข้าม พวกเขาพูดถึงพระองค์แบบดูถูกเหยียดหยาม
        พวกเขามองเห็นพระองค์เป็น “คนงานชั้นต่ำ” เป็น “คนงานกระจอก” เป็น “คนงานธรรมดา”
        คนระดับนี้จะมีปรีชาญาณและทำอัศจรรย์ได้อย่างไรกัน ?!
        แต่สำหรับเราคริสตชน นี่คือเกียรติยศอันยิ่งใหญ่สูงสุดของมนุษยชาติ ที่องค์พระผู้เป็นเจ้า เมื่อเสด็จมายังโลกนี้ ทรงน้อมรับชีวิตแบบสามัญชนและทำงานแบบธรรมดา ๆ เพื่อยังชีพ
        พระองค์ทรงร่วมชะตากรรมเดียวกันกับเรา โดยไม่มีข้อยกเว้นแม้แต่ประการเดียว !
        เมื่อมีพระองค์อยู่เคียงข้างและร่วมชะตากรรมใกล้ชิดเช่นนี้  โชคชะตาราศี ชาติกำเนิด หรือแม้แต่บรรดาวงศาคณาญาติของเราแต่ละคน ล้วนไม่ใช่สาระสำคัญ
        สาระสำคัญคือ แม้เราจะเป็นผู้ต่ำต้อยที่สุด เราก็มีพระเจ้าอยู่เคียงข้างเรา !
        เราจึงต้องไม่พลาดท่า ไปประเมินค่าผู้อื่นจากสิ่งภายนอกหรือสิ่งละอันพันละน้อย โดยไม่ดูให้ลึกถึงสาระสำคัญในมนุษย์แต่ละคน !
        หาไม่แล้วเราก็ทำตัวเหมือนชาวนาซาเร็ธ !
    2.    พวกเขาพูดว่า “นี่ลูกนางมารีย์ไม่ใช่หรือ ?”
        การเรียกพระองค์เป็น “ลูกนางมารีย์” แสดงว่าโยเซฟคงเสียชีวิตไปแล้ว
         และการที่พวกเขาเรียกพระองค์ “เป็นพี่น้องของยากอบ โยเสท ยูดาและซีโมน” อีกทั้งรู้ว่า “พี่สาวน้องสาวของเขาก็อยู่ที่นี่กับพวกเรา” แสดงว่าพวกเขารู้จักครอบครัวและพี่น้องของพระองค์เป็นอย่างดี (ดูคำอธิบายเรื่อง “พี่น้องของพระเยซูเจ้า” เพิ่มเติมด้านล่าง)
        แต่น่าเสียดายที่การรู้จักมักคุ้นกับครอบครัวของพระองค์ กลับทำให้พวกเขาดูหมิ่นเหยียดหยามพระองค์ !
        โธมัส แคมพ์เบล เป็นกวีที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่ง  เมื่อจัดพิมพ์บทประพันธ์เล่มแรกเสร็จ เขาส่งหนังสือผลงานให้คุณพ่อผู้สูงอายุของเขาเล่มหนึ่ง  หลังจากหยิบหนังสือขึ้นมาพินิจพิเคราะห์การเข้าเล่มอย่างละเอียดโดยไม่สนใจเปิดอ่านแม้แต่สารบัญของหนังสือแล้ว คุณพ่อก็เอ่ยขึ้นว่า “แหม ใครจะไปนึกว่าไอ้ทอม (โธมัส) มันจะทำหนังสือแบบนี้ได้ !”
        เขาไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยว่าลูกชายของเขาจะจัดพิมพ์หนังสือสวย ๆ แบบนี้ได้  ยิ่งเนื้อหาข้างในเล่มยิ่งไม่ต้องพูดถึง !
        เพราะความใกล้ชิดแท้ ๆ ที่ทำให้เขามองไม่เห็นความยิ่งใหญ่ของบุตรชาย !
        ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ยิ่งใกล้ชิดกันมากเท่าใด เรายิ่งน่าจะเห็นความดีและความยิ่งใหญ่ของกันและกันเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น !!!
        เหมือนเรายิ่งใกล้ชิดพระเยซูเจ้ามากเท่าใด เรายิ่งรู้จักพระองค์มากขึ้นเท่านั้น และหากได้รู้จักพระองค์แล้ว ไม่มีทางเลยที่เราจะไม่รักพระองค์        
    ผลจากการไม่ยอมรับพระเยซูเจ้าคือ “พระองค์ทรงทำอัศจรรย์ที่นั่นไม่ได้” (ข้อ 5)  ซึ่งบ่งบอกว่ามีบางสิ่งบางอย่างที่เราไม่สามารถทำได้หากสถานการณ์หรือบรรยากาศไม่เอื้ออำนวย ดังเช่น
    1.    ไม่มีใครได้รับการรักษาหากเขาไม่ยอมให้รักษา  ไม่มีหมอคนใดสามารถช่วยคนที่ไม่อยากมีชีวิตได้  เขาต้องมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตเสียก่อน จึงจะมีชีวิตอยู่ได้
        ชีวิตวิญญาณก็เช่นเดียวกัน หากเราไม่มีความมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตฝ่ายวิญญาณ เราย่อมไม่ต้องการการรักษา
        และถ้าไม่ต้องการการรักษา พระเยซูเจ้าย่อมทำอัศจรรย์ในตัวเราไม่ได้ !
    2.    ไม่มีใครเทศน์สอนได้หากบรรยากาศไม่เป็นใจ  จริง ๆ แล้วหากสัตบุรุษในวัดเฝ้าคอยข่าวดีของพระเจ้าด้วยใจร้อนรน พวกเขาได้ช่วยพระสงฆ์เทศน์สอนเกินครึ่งไปแล้ว  พระสงฆ์เพียงแค่จุดประกายไฟอีกนิดเดียว อาณาจักรของพระเจ้าก็จะได้รับการสถาปนาขึ้นภายในวัดแห่งนั้น
        ตรงกันข้าม หากบรรยากาศภายในวัดเต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์  หรือสัตบุรุษมีจิตใจเย็นเฉย ต่อให้เทวดาลงมาเทศน์สอนก็คงไม่บังเกิดผล
    3.    ไม่มีใครสร้างสันติได้หากบรรยากาศไม่เอื้ออำนวย  หากสัตบุรุษแต่ละคนมีจิตใจเกลียดชัง ทั้งวัดก็จะเกลียดชังกัน  หากแต่ละคนไม่ต้องการเข้าใจกัน ทั้งวัดก็จะเข้าใจกันผิด ๆ   หากแต่ละคนยึดมั่นในความคิดของตนเอง ทั้งวัดก็จะมองไม่เห็นหัวคนอื่น
        แต่ถ้าแต่ละคนมาโดยมีความรักของพระคริสตเจ้าอยู่ในหัวใจ และพยายามที่จะรักและถนอมน้ำใจกันไว้  ต่อให้คนที่ทิ้งวัดไปแล้วเป็นสิบ ๆ ปีก็จะกลับมารวมกันอีกครั้งหนึ่ง
    เพราะฉะนั้น เราทุกคนจึงมีความรับผิดชอบอันใหญ่หลวง
     ... ที่จะช่วยกันจรรโลงงานของพระเยซูเจ้า ไม่ใช่บรรจุโลง งานของพระองค์
    … ที่จะเปิดประตูกว้างต้อนรับพระองค์ ไม่ใช่ปิดประตูใส่หน้าพระองค์ !!!

_____________

คำอธิบายเพิ่มเติม
เรื่อง

พี่น้องของพระเยซูเจ้า

“เขาเป็นลูกช่างไม้มิใช่หรือ แม่ของเขาชื่อมารีย์ พี่ชายน้องชายของเขามิใช่ยากอบ โยเซฟ ซีโมน และยูดาหรือ” (มธ 13:55)
“คนนี้เป็นช่างไม้ ลูกนางมารีย์ เป็นพี่น้องของยากอบ โยเสท ยูดาและซีโมนไม่ใช่หรือ พี่สาวน้องสาวของเขาก็อยู่ที่นี่กับพวกเรามิใช่หรือ” (มก 6:3)
     “เมื่อโยเซฟตื่นขึ้นก็ทำตามคำซึ่งทูตสวรรค์ขององค์พระผู้เป็นเจ้าสั่งนั้น คือได้รับมารีย์มาเป็นภรรยา แต่ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับเธอจนกว่าให้พระกำเนิดบุตรชายแล้ว” (มธ 1:24-25)
“พระนางประสูติพระโอรสองค์แรก ทรงใช้ผ้าพันพระวรกายพระกุมารนั้น แล้วทรงวางไว้ในรางหญ้า เนื่องจากไม่มีที่ในห้องพักแรมเลย” (ลก 2:7)

จากพระวรสารที่ยกมานี้ ก่อให้เกิดคำถามสำคัญ 2 ประการคือ
1.    ยากอบ โยเซฟหรือโยเสท ยูดา และซีโมน  ทั้ง 4 คนนี้เป็น “น้องชายแท้ ๆ” ของพระเยซูเจ้าจริงหรือ ?
2.    แม่พระมีบุตรเพียงคนเดียวหรือ ? คำว่า “พี่น้องของพระเยซูเจ้า” จะให้เข้าใจว่าอย่างไร ?

1.  ยากอบ โยเซฟหรือโยเสท ยูดา และซีโมนเป็นใคร ?
    
ยากอบ จากหลักฐานในพระคัมภีร์ เราพบว่าท่านคือ
     - หนึ่งในบรรดาอัครสาวก “ข้าพเจ้าไม่พบอัครสาวกอื่น ๆ นอกจากยากอบ ผู้เป็นน้องชายขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (กท 1:19)
         - นอกจากเป็นอัครสาวกแล้ว ยังมีความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ จนนักบุญเปาโลใส่ชื่อของท่านก่อนเคฟาส (นักบุญเปโตร) เสียอีก “ดังนั้น เมื่อยากอบ เคฟาสและยอห์น ซึ่งได้รับความนับถือว่าเป็นหลัก รู้เรื่องพระหรรษทานที่พระเจ้าประทานแก่ข้าพเจ้าแล้ว ก็จับมือกับข้าพเจ้าและบารนาบัส แสดงความเป็นเพื่อนร่วมงานกัน ตกลงกันว่า เราจะไปพบคนต่างศาสนา ส่วนพวกเขาจะไปพบผู้เข้าสุหนัตแล้ว” (กท 2:9)
        ในกิจการอัครสาวกบทที่ 15 ซึ่งกล่าวถึงการประชุมระหว่างบรรดาอัครสาวกและผู้อาวุโสที่กรุงเยรูซาเล็มเพื่อพิจารณาปัญหาที่ว่า “ต้องให้คนต่างศาสนาเข้าสุหนัต และปฏิบัติตามธรรมบัญญัติของโมเสส” หรือไม่  ยากอบก็มีบทบาทอย่างสูงโดยเป็นผู้กล่าวคำปราศรัยในที่ประชุมถัดจากเปโตรทันที
         - เป็นสังฆราชของเยรูซาเล็ม “เมื่อเรามาถึงกรุงเยรูซาเล็ม บรรดาพี่น้องต้อนรับเราด้วยความยินดี วันรุ่งขึ้นเปาโลและเราไปพบยากอบ บรรดาผู้อาวุโสทุกคนอยู่ที่นั่นด้วย” (กจ 21:17-18)
         - เป็นคนแรกที่เขียนบทจดหมายถึงบรรดาคริสตชน (จดหมายของนักบุญยา-กอบ)
    จากรายชื่ออัครสาวกทั้ง 12 คนซึ่งประกอบด้วย “ซีโมน ผู้มีสมญาว่าเปโตร กับอันดรูว์น้องชายของเขา ยากอบบุตรของเศเบดีกับยอห์นน้องชาย ฟิลิปและบาร์โธโลมิว  โธมัสและมัทธิว คนเก็บภาษี ยากอบบุตรอัลเฟอัส และธัดเดอัส ซีโมนจากกลุ่มชาตินิยม และยูดาสอิสคาริโอท” (มธ 10:2-4) เราจะเห็นว่ามีคนชื่อยากอบ 2 คน คือ ยากอบบุตรของเศเบดี และยากอบบุตรอัลเฟอัส
    แต่เราสามารถตัดยากอบบุตรของเศเบดีออกไปจากการประชุมที่กรุงเยรูซาเล็มได้เลย (กจ 15; กท 2:9) เพราะ “กษัตริย์เฮโรดทรงเริ่มเบียดเบียนสมาชิกบางคนของพระศาสนจักร พระองค์ทรงประหารยากอบ (บุตรของเศเบดี) พี่ชายของยอห์นโดยตัดศีรษะ” (กจ 12:1-2)
    เพราะฉะนั้น บุคคลที่นักบุญเปาโลเรียกว่า “ยากอบ ผู้เป็นน้องชายขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (กท 1:19) จึงเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก “ยากอบบุตรของอัลเฟอัส”
    และเมื่อเทียบพระวรสารตอนที่เล่าเหตุการณ์ ณ เชิงไม้กางเขนเข้าด้วยกันดังนี้
          ยน 19:25 “พระมารดาของพระเยซูเจ้าทรงยืนอยู่ข้างไม้กางเขนของพระองค์พร้อมกับน้องสาวของพระนาง มารีย์ภรรยาของเคลโอปัส และมารีย์ชาวมักดาลา”
          มธ 27:56 “ในจำนวนนี้มีมารีย์ชาวมักดาลา และมารีย์มารดาของยากอบและของโยเซฟ และมารดาของบุตรเศเบดี (นางสะโลเม)”
        มก 15:40 “สตรีบางคนมองดูเหตุการณ์อยู่ห่าง ๆ ในจำนวนนี้มีมารีย์ชาวมักดาลา มารีย์มารดาของยากอบคนเล็กและของโยเสท และนางสะโลเม”
    เราจะพบว่า มารีย์ภรรยาของเคลโอปัส หรือที่ถูกกว่าตามต้นฉบับภาษากรีกคือ โคลปัส (Clopas) นั้นเป็นน้องสาวของแม่พระ (ยน 19:25) และเป็นแม่ของยากอบคนเล็ก และโยเซฟ (มธ 27:56) หรือโยเสท (มก 15:40)
    ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ส่วนใหญ่ยอมรับว่า โคลปัส และอัลเฟอัส เป็นวิธีเขียนชื่อภาษาอาราไมอิคให้เป็นภาษากรีกของคน ๆ เดียวกันคือ Halphai   และตามบันทึกของนักบุญ Hegesippus โคลปัส คือน้องชายของนักบุญโยเซฟอีกด้วย
    สรุปคือ ยากอบที่ได้ชื่อว่าเป็นน้องชายของพระเยซูเจ้า คือยากอบคนเล็ก หนึ่งในบรรดาอัครสาวก ผู้เป็นบุตรของอัลเฟอัสหรือโคลปัส  และมีมารดาชื่อมารีย์ซึ่งเป็นน้องสาวของแม่พระ
    
โยเซฟ หรือ โยเสท เราไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับท่านมากไปกว่าที่อ้างอิงมาแล้ว คือท่านเป็นบุตรของมารีย์น้องสาวแม่พระ หรือเป็นน้องชายแท้ ๆ ของยากอบนั่นเอง (มก 15:40; มธ 27:56)

    ยูดา  ในรายชื่ออัครสาวกสิบสองคนที่ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ฉบับ Douay (เป็นพระคัมภีร์ที่แปลโดยคาทอลิกหลังการแยกตัวของโปรแตสแตนท์ ได้รับการยอมรับอย่างสูงและเป็นต้นแบบในการแปลพระคัมภีร์ภาษาอังกฤษที่เป็นของคาทอลิกแทบทุกฉบับ) มีชื่อ Judas Jacobi ซึ่งแปลว่า “ยูดาน้องชายของยากอบ” (ลก 6:16 และ กจ 1:13) รวมอยู่ในบรรดาอัครสาวกด้วย
    จึงมีเหตุผลน่าเชื่อว่า ท่านคือคน ๆ เดียวกันกับ ธัดเดอัส หนึ่งในบรรดาอัครสาวก และเป็นผู้เขียนจดหมายถึงพวกคริสตชนฉบับสุดท้าย ซึ่งท่านขึ้นต้นจดหมายของท่านว่า “จากยูดา ผู้รับใช้ของพระเยซูคริสตเจ้า น้องของยากอบ” (ยด 1:1)

    ซีโมน  ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ส่วนใหญ่เชื่อว่าท่านคือบุตรของโคลปัส เป็นน้องชายของยากอบและยูดา และเป็นสังฆราชของเยรูซาเล็มต่อจากยากอบผู้พี่
    มีส่วนน้อยที่เชื่อว่าท่านคือ ซีโมนชาวคานาอัน (มธ 10:4) หรือ ซีโมนชาตินิยม หนึ่งในบรรดาอัครสาวก
    
    ส่วนคำโต้แย้งที่ว่าบรรดาพี่น้องของพระเยซูเจ้าไม่เชื่อในพระองค์ แล้วจะเป็นอัครสาวกได้อย่างไรดังที่ปรากฏใน ยน 7:3-5 ว่า  “บรรดาพี่น้องของพระองค์กล่าวกับพระองค์ว่า “จงออกจากที่นี่ เดินทางไปในแคว้นยูเดียเถิด เพื่อบรรดาศิษย์ของท่านจะเห็นกิจการที่ท่านทำด้วย ไม่มีใครซ่อนเร้นสิ่งใด ถ้าต้องการให้ทุกคนรู้ ถ้าท่านกำลังทำกิจการเหล่านี้อยู่ ก็จงแสดงตนให้โลกเห็นเถิด” แม้แต่พี่น้องของพระองค์ก็ไม่เชื่อในพระองค์” นั้น คงเกิดจากการตีความผิด เพราะพี่น้องของพระองค์ไม่ใช่ไม่เชื่อ พวกเขาเชื่อว่าพระองค์เป็นพระเมสสิยาห์ เพียงแต่ว่าความคิดเรื่องพระเมสสิยาห์ของพวกเขาไม่ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแม้แต่บรรดาอัครสาวกเองยังเข้าใจความหมายของพระเมสสิยาห์จริง ๆ ก็ต่อเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นสวรรค์แล้วเท่านั้น (กจ 1:6)
    อีกทั้งข้อความที่ว่า “แม้แต่พี่น้องของพระองค์ก็ไม่เชื่อในพระองค์” ในย่อหน้าข้างบน ก็ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าในบรรดาพี่น้องของพระองค์ ไม่มีใครเชื่อพระองค์เลยแม้แต่คนเดียว

2.  “พี่น้องของพระเยซูเจ้า” หมายถึงอะไร

    พวกที่มีความเชื่อผิด ๆ (heretics) ในสมัยโบราณเช่น Helvidius และพวก Antidicomarianites ถือว่า พี่น้องของพระเยซูเจ้าคือน้องร่วมสายโลหิตหรือน้องที่มาจาก “มดลูก” ของแม่พระจริง ๆ   ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์ของโปรแตสแตนท์ส่วนใหญ่ก็เชื่อเช่นนี้     ความคิดเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อพวกเราคาทอลิกด้วยเหมือนกัน จนบางคนอดสงสัยไม่ได้ว่า “แม่พระมีบุตรกี่คน” หรือ “พี่น้องของพระเยซูเจ้า” หมายถึงอะไร ?
    เพื่อจะตอบคำถามนี้ ประการแรก เราต้องไม่ลืมว่า คำ “พี่น้อง” อาจแปลตามตัวอักษรว่าหมายถึง “พี่น้องท้องเดียวกัน” หรือเป็นเพียง “ลูกพี่ลูกน้อง” กันก็ได้  ยิ่งในภาษาเสมิติกดังเช่น ฮีบรู และอาราไมอิคที่ใช้ในพระคัมภีร์ด้วยแล้ว ยิ่งมีความหมายครอบคลุมไปถึงบรรดาญาติพี่น้องที่ห่างกันมาก ๆ อีกด้วย เช่น
    “อับรามจึงบอกแก่โลทว่า “เราอย่าวิวาทกันเลย อย่าให้คนเลี้ยงสัตว์ของท่านกับคนเลี้ยงสัตว์ของฉันวิวาทกัน เพราะเราเป็นญาติกัน” (ปฐก 13:8; 14:14) ทั้ง ๆ ที่โลทเป็นเพียงผู้อพยพออกจากเมืองฮารานไปอียิปต์พร้อมกับอับรามเท่านั้น
    ประการที่สอง พวกคาทอลิกเองเคยมีความคิดเห็นแตกต่างกันเป็น 2 ค่ายเกี่ยวกับคำว่า “พี่น้องของพระเยซูเจ้า”
    ค่ายแรกคือพวกปิตาจารย์และนักเขียนกรีก (ค่ายตะวันออก) พวกนี้ได้รับอิทธิพลจากหนังสืออธิกธรรม (Apocrypha) จึงถือว่าพี่น้องของพระเยซูเจ้าคือบรรดาลูก ๆ ของโยเซฟที่เกิดจากการแต่งงานครั้งแรก
    ค่ายที่สองคือบรรดาปิตาจารย์ลาติน (ค่ายตะวันตก) พวกนี้ถือว่าพี่น้องของพระเยซูเจ้าเป็นเพียง “ลูกพี่ลูกน้อง” ของพระองค์เท่านั้น
    เหตุผลสนับสนุนความคิดของปิตาจารย์ลาตินคือ 
    1.    พระธรรมใหม่ทั้งหมดพูดถึงแม่พระว่าเป็นแม่ของพระเยซูเจ้าเพียงคนเดียว  และแยกแม่พระออกจากบรรดาผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นพี่น้องของพระองค์ เช่น
        “ขณะที่พระเยซูเจ้ากำลังตรัสกับประชาชน พระมารดาและพระญาติของพระองค์ (ไม่ได้บอกว่าเป็นลูกของแม่พระ – ผู้เรียบเรียง) มายืนอยู่ข้างนอก ต้องการพูดกับพระองค์” (มธ 12:46; มก 3:31; ลก 8:19)
        “ทุกคนร่วมอธิษฐานภาวนาสม่ำเสมอเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมกับบรรดาสตรี รวมทั้งมารีย์พระมารดาของพระเยซูเจ้าและพี่น้องของพระองค์” (กจ 1:14)
    2.    เมื่อพระเยซูเจ้าอายุ 12 ขวบ ลูกาเล่าว่า “โยเซฟพร้อมกับพระมารดาของพระเยซูเจ้าเคยขึ้นไปยังกรุงเยรูซาเล็มในเทศกาลปัสกาทุกปี” (ลก 2:41) เหตุการณ์นี้คงเป็นไปได้ยากถ้าแม่พระมีลูกเล็ก ๆ ตามมาอีกหลายคน เพราะการเดินทางไกลเป็นประจำเช่นนี้คงเป็นภาระเกินกำลังและเกินงบประมาณของแม่พระเป็นแน่
    3.    ถ้าพระเยซูเจ้ามีน้องร่วมสายโลหิตจริง ๆ ก็คงเป็นเรื่องแปลกมาก ที่ในช่วงวิกฤตใกล้สิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน พระองค์กลับมอบให้นักบุญยอห์นซึ่งเป็นคนนอกเป็นผู้ดูแลแม่ของพระองค์เอง แทนที่จะมอบให้น้อง ๆ เป็นผู้ดูแล (ยน 19:26)
        และหากคิดในทางร้ายสุด ๆ ว่าพระองค์มีปัญหากับพวกน้อง ๆ หรือแม่พระเข้ากันไม่ได้กับลูกคนอื่น ๆ  คำที่พระองค์ควรใช้คือ i;de ui`o,j sou (ไม่มี article) แทนที่จะเป็น i;de o` ui`o,j sou (มี article) ซึ่งบ่งบอกถึงบุตรคนเดียว ดังที่ปรากฏอยู่ในต้นฉบับภาษากรีก
    4.    ข้อพิสูจน์ที่หนักแน่นที่สุดคือ เรารู้แน่นอนว่า ยากอบ และโยเซฟหรือโยเสท เป็นบุตรของอัลเฟอัสหรือโคลปัส และนางมารีย์ซึ่งเป็นน้องสาวของแม่พระ  เขาทั้งสองคนเป็นเพียง “ลูกผู้น้อง” ของพระเยซูเจ้า ไม่ใช่น้องชายแท้ ๆ
        เมื่อสองคนในรายชื่อ “พี่น้องของพระเยซูเจ้า” ไม่ใช่น้องท้องเดียวกันของพระองค์ คนอื่น ๆ ก็ไม่น่าจะใช่ด้วย
         และผลที่ตามมาก็คือเราตัดความคิดที่ว่าพี่น้องเหล่านี้เป็นบุตรที่เกิดจากการแต่งงานครั้งแรกของนักบุญโยเซฟออกไปได้เลย

    พวกที่โต้แย้งเหตุผลของปิตาจารย์ลาตินมักยกข้อความที่ว่า “โยเซฟไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับเธอจนกว่าให้พระกำเนิดบุตรชายแล้ว” (มธ 1:25) และ “พระนางประสูติพระโอรสองค์แรก” (ลก 2:7) มาเป็นข้ออ้าง 
    ความจริงโอรสองค์แรก (prototokos) ไม่ได้หมายความว่าต้องมีองค์ที่สอง และต่อ ๆ ไป ดังที่เมื่อลูกาบันทึกไว้ว่า “มีเขียนไว้ในธรรมบัญญัติของพระเจ้าว่า จะต้องถวายบุตรชายคนแรก (prototokos) แด่พระเจ้า” (ลก 2:23) ท่านต้องการหมายความเพียงว่าแม้มีลูกคนเดียวก็ต้องถวายแด่พระเจ้า เพราะลูกคนเดียวนี้ถือว่าได้เบิกครรภ์ครั้งแรกของมารดาแล้วและ “ทุกอย่างที่เบิกครรภ์ครั้งแรกนั้น ท่านจงแยกถวายแด่พระเจ้า” (อพย 13:12)
    และเช่นกันนักบุญเยโรมย้ำนักย้ำหนาว่า การที่โยเซฟ “ไม่ได้มีเพศสัมพันธ์กับเธอจนกว่าให้พระกำเนิดบุตรชายแล้ว” เป็นเพียงคำกล่าวยืนยันว่าพระเยซูเจ้าบังเกิดด้วยฤทธิ์อำนาจของพระจิตเจ้าล้วน ๆ   หาได้หมายความว่าโยเซฟมีเพศสัมพันธ์กับแม่พระหลังให้กำเนิดพระองค์แล้วแต่ประการใดไม่
    ขอฟันธงว่า “พี่น้องของพระเยซูเจ้า” เป็นเพียง “ลูกผู้น้อง” ของพระองค์เท่านั้น !

มก 7:1-8,14-15,21-23 ขนบธรรมเนียมของชาวฟาริสี

ข่าวดี  มาระโก 7:1-8,14-15,21-23 1)ชาวฟาริสีและธรรมาจารย์บางคนจากกรุงเยรูซาเล็มมาเฝ้าพระองค์พร้อมกัน  (2)เขาสังเกตว่าศิษย์บางคนของพร...